Cute White Flying Butterfly

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม

   ความหมายของวรรณคดีและวรรณกรรม
   วรรณคดีและวรรณกรรม เป็นงานที่แต่งขึ้นโดยเลือกใช้ภาษาเพื่อสื่อความในเรื่องถ่ายทอดความรู้ ความคิด จินตนาการ ประสบการณ์ ฯลฯ มีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
   วรรณคดี คือ หนังสือดีที่ใช้ศิลปะในการแต่ง สร้างจินตภาพ แสดงความรู้ ความคิด เป็นภาพแทนสังคม
   วรรณกรรม คือ งานเขียนทุกรูปแบบ มีเนื้อหาที่สื่อความให้ผู้อ่านเข้าใจได้ ไม่เน้นเรื่องศิลปะในการแต่ง
   จากความหมายข้างต้น วรรณคดีคือวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีวรรณศิลป์ (ศิลปะในการแต่ง)
   การอ่านวรรณคดีและวรรณกรรมให้ได้คุณค่าทางอารมณ์และความคิดตามเจตนาผู้แต่ง ต้องใช้การอ่านอย่างพินิจ โดยใช้การตีความ การพิจารณาเนื้อหา แนวคิด และการวินิจฉัยประเมินค่า


   ความหมายของการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม
   พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติคำว่า “พินิจ” เทียบจากคำว่า “Review” หมายถึง การมองซ้ำ ส่วนพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ กล่าวว่า “พินิจ” หมายถึง พิจารณา ตรวจตรา
   การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม จึงหมายถึง การศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรมผ่านการตีความ การวิเคราะห์ วิจารณ์ พิจารณาเนื้อหา แนวคิด และประเมินองค์ประกอบและวิธีการประพันธ์ เพื่อให้เข้าใจคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งถือเป็นแนวทางเบื้องต้นของการวิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรม



หลักการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม
   ๑. ทำความเข้าใจเรื่อง ดูว่าเรื่องกล่าวถึงใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร แต่หากวรรณคดีหรือวรรณกรรมไม่มีเนื้อเรื่อง เช่น วรรณคดีสุภาษิต ให้หาแนวคิดของเรื่องว่าพูดถึงอะไร
   ๒. ตีความ ทำความเข้าใจความหมายแฝงจากถ้อยคำที่พบในเรื่อง
   ๓. วิเคราะห์ แยกพิจารณาวรรณคดีหรือวรรณกรรมตามองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ รูปแบบ เนื้อหา ภาษา และกลวิธีการประพันธ์
   ๔. วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นว่ามีข้อเด่น ข้อด้อย หรือความเหมาะสมในการแต่งอย่างไร
   ๕. ประเมินค่า ประเมินคุณค่าว่าดีหรือไม่ เพราะเหตุใด พิจารณาข้อมูลและเหตุการณ์แวดล้อมประกอบ


   ผู้พินิจวรรณคดีและวรรณกรรมจะต้องใช้หลักการทั้ง ๕ ขั้นตอนมาพิจารณาองค์ประกอบของวรรณคดีหรือวรรณกรรม ดังนี้

   องค์ประกอบของวรรณคดีและวรรณกรรม
   ๑. เนื้อหา คือ ใจความสำคัญของวรรณคดีและวรรณกรรมมีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่
       ๑.๑ เนื้อเรื่อง จะบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร ซึ่งวรรณคดีและวรรณกรรมบางเรื่องอาจไม่มีเรื่องราว แต่เป็นภาษิต คำสอนที่ผู้แต่งต้องการให้ผู้อ่านรับรู้ เช่น


                                      “พระสมุทรสุดลึกล้น                 คณนา
                                     สายดิ่งทิ้งทอดมา                      หยั่งได้
                                     เขาสูงอาจวัดวา                        กำหนด
                                     จิตมนุษย์นี้ไซร้                         ยากแท้หยั่งถึง”


(โคลงโลกนิติ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)


       ๑.๒ แก่นเรื่อง คือ แนวคิดที่ผู้แต่งกำหนดเพื่อเป็นกรอบของเรื่อง
       ๑.๓ โครงเรื่อง คือ เหตุการณ์สำคัญของเรื่องที่ผู้แต่งคิดไว้คร่าว ๆ ยังไม่ลงรายละเอียดย่อย เช่น ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ ซึ่งการพินิจโครงเรื่อง ผู้อ่านควรดูการลำดับเหตุการณ์ในเรื่องว่ามีการเรียงร้อยเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้อย่างไร เช่น เล่าเรื่องตามลำดับเวลา, เล่าเรื่องย้อนหลัง หรือเล่าเรื่องสลับไปมา
       ๑.๔ ตัวละคร คือ ผู้แสดงบทบาทในงานประพันธ์ อาจเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือตัวละครที่สมมุติขึ้นจะเป็นมนุษย์หรือไม่ก็ได้ ซึ่งตัวละครแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะได้แก่
          ๑) ตัวละครหลายลักษณะ คือ ตัวละครที่มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนคนจริง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไปได้ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง
          ๒) ตัวละครลักษณะเดียว คือ ตัวละครที่มีนิสัยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องได้
       การพินิจตัวละคร ผู้อ่านต้องพิจารณาพฤติกรรม ความคิด ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของตัวละคร 
       ๑.๕ ฉาก คือ สภาวะแวดล้อมหรือบรรยากาศที่เกิดขึ้นรอบตัวละคร อาจเป็นฉากที่มีอยู่จริงหรือเป็นฉากในจินตนาการ ซึ่งครอบคลุมถึงช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ เช่น ช่วงกลางวัน ช่วงกลางคืน สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เป็นต้น การพินิจฉาก ผู้อ่านต้องสังเกตความถูกต้อง ความสมจริง และความสอดคล้องต่อเหตุการณ์


   ๒. รูปแบบ คือ ลักษณะของงานประพันธ์ที่ผู้แต่งเลือกใช้ซึ่งการพินิจรูปแบบ ผู้อ่านควรพิจารณารูปแบบและเนื้อหาว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่


   ๓. ภาษา คือ ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อสื่อเรื่องราวมาสู่ผู้รับสาร ผ่านภาษาพูดและภาษาเขียน โดยภาษาพูดจะใช้กับวรรณคดีและวรรณกรรมมุขปาฐะ ส่วนภาษาเขียนจะใช้กับวรรณคดีและวรรณกรรมลายลักษณ์ ซึ่งความไพเราะของวรรณคดีและวรรณกรรมจะขึ้นอยู่กับศิลปะทางภาษา ดังนี้
       ๓.๑ รสคำ คือ ความไพเราะที่เกิดจากการเลือกใช้ถ้อยคำที่กระทบใจ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้แต่งได้ ดังนี้
          ๑) การใช้เสียงสัมผัส คือ การใช้เสียงที่คล้องจองกัน มี ๒ ชนิด คือ “สัมผัสนอก” และ “สัมผัสใน” พยัญชนะ เช่น


                             “ดูน้ำวิ่งกลิ้งเชี่ยวเป็นเกลียวกลอก          กลับกระฉอกฉาดฉัดฉวัดเฉวียน
                           บ้างพลุ่งพลุ่งวุ้งวงเป็นกงเกวียน               ดูเวียนเวียนคว้างคว้างเป็นหว่างวง”


(นิราศภูเขาทอง ของ สุนทรภู่)


          ๒) การเลียนเสียงธรรมชาติ คือ การนำคำเลียนแบบเสียงจากธรรมชาติ เช่น


                             “ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะปะ                เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ
                           ที่เข็นเรียงเคียงลำขยำแขยะ                  มันเกาะแกะกันจริงจริงหญิงกับชาย”


(นิราศเมืองเพชร ของ สุนทรภู่)


          ๓) การเล่นคำและเล่นเสียง คือ การเล่นเสียงสระ-พยัญชนะ คำพ้องเสียง คำเสียงคล้าย เช่น


                             “ฝูงลิงไต่กิ่งลางลิงไขว่                     ลางลิงแล่นไล่กันวุ่นวาย
                           ลางลิงชิงค่างขึ้นลางลิง                      กาหลงลงกิ่งกาหลงลง”


(ขุนช้างขุนแผนของ รัชกาลที่ ๒)

 
       ๓.๒ รสความ คือ ความไพเราะที่ได้จากความหมายของถ้อยคำผ่านการบรรยายหรือพรรณนาในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
          ๑) การพรรณนาความอย่างตรงไปตรงมา คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงตัว ผู้อ่านสามารถเห็นภาพโดยไม่ต้องตีความ เช่น


                             “กระโดดเผาะเกาะผับขยับคืบ              ถีบกระทืบมิใคร่หลุดสุดแสยง
                           ปลดที่ตีนติดขาระอาแรง                       ทั้งขาแข้งเลือดโซมชโลมไป”


(นิราศเมืองแกลง ของ สุนทรภู่)


          ๒) การพรรณนาความโดยใช้โวหารภาพพจน์ คือ การใช้ถ้อยคำที่เป็นศิลปะทางภาษา ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพมากกว่าการพูดอย่างตรงไปตรงมา ตัวอย่างโวหารภาพพจน์ ได้แก่
             (๑) อุปมา (Simile) คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นของต่างจำพวกกัน มักมีคำว่า เปรียบว่า ดุจ ดัง ดั่ง แม้น เหมือน ปาน ราวกับ ฯลฯ เช่น


                            “อสุรีผีเสื้อจะเหลืออด                           แค้นโอรสราวกับไฟไหม้มังสา
                          ช่างหลอกหล่อนผ่อนผันจำนรรจา             แม้นจะว่าโดยดีเห็นมิฟัง”


(พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่)


             (๒) อุปลักษณ์ (Metaphor) คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นของต่างจำพวกกัน มักมีคำว่า เป็น คือ หรืออาจจะละคำเหล่านี้ไว้โดยเป็นที่เข้าใจตรงกัน เช่น


“มังกันจีมีปรีชาเฉียบแหลมปัญญาเป็นเข็ม”


(ราชาธิราช ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน))


             (๓) สัญลักษณ์ (Symbol) คือ การใช้คำคำหนึ่งแทนอีกคำหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้ทั่วไป เช่น “หงส์” เป็นสัญลักษณ์ของคนชั้นสูง “กา” เป็นสัญลักษณ์ของคนชั้นต่ำ ตัวอย่างคำประพันธ์ เช่น


                             “เมื่อแรกเชื่อว่าเนื้อทับทิมแท้                มาแปรเป็นพลอยหุงไปเสียได้
                           กาลวงว่าหงส์ให้ปลงใจ                        ด้วยมิได้ดูหงอนแต่ก่อนมา”


(ขุนช้างขุนแผนของ รัชกาลที่ ๒)


             (๔) อติพจน์ (Hyperbole) คือ การกล่าวถึงสิ่งเกินจริงเพื่อเน้นอารมณ์ความรู้สึก เช่น


                             “ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร                 ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
                           แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร                         ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา”


(พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่)


             (๕) บุคคลวัตหรือบุคคลสมมุติ (Personification) คือ การสมมุติให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์กระทำกริยาอาการหรือมีความรู้สึกอย่างมนุษย์ เช่น


                                              “จากมามาลิ่วล้ำ                 ลำบาง
                                             บางยี่เรือราพลาง                 พี่พร้อง
                                             เรือแผงช่วยพานาง              เมียงม่าน มานา
                                             บางบ่รับคำคล้อง                 คล่าวน้ำตาคลอ”


(โคลงนิราศนรินทร์ ของ นายนริทร์ธิเบศร์ (อิน))


             (๖) ปฏิปุจฉา (Rhetorical question) คือ การใช้คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เพื่อกระตุ้นให้สนใจหรือเกิดความคิด เช่น 


                             “แล้วว่าอนิจจาความรัก                         พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
                           ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลี่ยวไป                      ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา”


(อิเหนา ของ รัชกาลที่ ๒)


   หากเราสามารถพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมได้ถูกต้องจะทำให้เข้าใจและซาบซึ้งคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรมไทย อันเป็นวัฒนธรรมทางภาษาอย่างหนึ่งของประเทศไทย


 

สรุป
   วรรณคดีและวรรณกรรมเป็นศิลปะทางภาษาแขนงหนึ่ง ที่ให้คุณค่าทางสติปัญญาและอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเราพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมในด้านเนื้อหารูปแบบ และภาษา จะทำให้เกิดความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ และเข้าใจถึงคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม นำไปสู่พัฒนาการทางด้านจิตใจ เกิดความรู้สึกที่อยากจะทำนุบำรุงภาษาไทย 

 



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

  ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม    ความหมายของวรรณคดีและวรรณกรรม    วรรณคดีและวรรณกรรม เป็นงานที่แต่งขึ้นโดยเลือกใช้ภาษาเ...